หลักการให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย

หลักการให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย

หลักการให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย

หลักการให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย

ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ

ออกซิเจนในเลือดต่ำ หมายถึง แรงดันของออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ หรื่อวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดได้น้อยกว่าปกตินั่นเอง

ที่ใช้สะดวกแพร่หลายจะเป็น การวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจน เพราะสามารถวัดได้จากภายนอก โดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์  ที่ไม่ยุ่งยาก และซับซ้อน เราจะวัดโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า pulse oximeter (เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วปกติความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดจะอยู่ที่ 96 – 99%  ของความอิ่มตัวสูงสุด หากต่ำกว่า นี้เราจะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้นๆ ในกรณีออกซิเจนต่ำที่เป็นเรื้อรังแล้วร่างกายมีการปรับตัว มักจะไม่มีอาการของการขาดออกซิเจน จนกว่าออกซิเจนจะเริ่มต่ำกว่า 90%

เมื่อออกซิเจนในเลือดต่ำ เริ่มแรกเลย ร่างกายจะพยายามปรับสมดุลในตัวเอง เพื่อรักษาระดับออกซิเจนไม่ให้ตกก่อน โดยการหายใจที่เร็วขึ้น แรงขึ้น หัวใจก็พยายามสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มากขึ้น โดยจะเต้นเร็วและแรงขึ้นด้วยเช่นกัน ความดันโลหิตก็จะสูงขึ้น

หากยังไม่สามารถรักษาระดับออกซิเจนในเลือดให้เพียงพอไว้ได้ ก็จะส่งผลให้เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกายเริ่มทำงานผิดปกติ นำไปสู่ภาวะของการเกิดของเสียในเซลล์มากขึ้น มีความเป็นกรดในเซลล์ในร่างกายมากขึ้น จนในที่สุดเซลล์จะสูญเสียหน้าที่ทำงานไม่ได้ นั่นหมายถึงการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายล้มเหลวนั่นเอง

เมื่อร่างกายมีออกซิเจนในเลือดต่ำ

โดยปกติ ออกซิเจนจะเข้าสู่ร่างกายด้วยการหายใจทางปอด ดังนั้นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานระบบนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นโรคปอด โรคที่เกี่ยวกับหลอดลม โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ  โรคไต ภาวะน้ำท่วมปอด โรคในกลุ่มเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลโดยตรง ที่ทำให้ร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ เนื่องจากออกซิเจนไม่สามารถเข้าสู่ถุงลมได้ตามปกติ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ

ผู้ป่วยที่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำนานๆ หรือเรื้อรังจะส่งผลให้อวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆ จะมีออกซิเจนต่ำ เกิดการเสื่อมหรือตายของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ จะสังเกตเห็นได้ว่าผู้ป่วยมีอาการซึม การทำงานของสมองช้าลง สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วยออกซิเจนในเลือดต่ำ มาจากภาวะหัวใจล้มเหลว

ข้อบ่งใช้ของออกซิเจน

ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องมีการให้ออกซิเจนเพิ่ม หรือเพื่อรักษา ได้แก่ ผู้ป่วยทั้งหลายที่มีออกซิเจนไม่เพียงพอ ในสภาวะนั้นๆ อาจมีสาเหตุจากการหายใจเอง สาเหตุจากระบบไหลเวียนหรือมีความผิดปกติอื่นๆ ที่ทำให้เซลล์ปลายทางได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งพอสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้

  1. ทุกกรณีเมื่อผู้ป่วยรับออกซิเจนไม่เพียงพอ สามารถทราบได้จากการวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (oxygen saturation) โดยใข้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว  ค่าที่ได้จะได้น้อยกว่า 90%
  2. ผู้ป่วยที่หัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น การหายใจล้มเหลว หรือหยุดหายใจ
  3. ผู้ป่วยที่มีอาการ หรือ อาการแสดงของภาวะขาดออกซิเจน เช่น มีอาการหอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว มีอาการวุ่นวาย ต่อสู้ สับสน หรือสีผิว สีริมฝีปาก ดูคล้ำเขียว
  4. ผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง มีความดันตก มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดใดๆในร่างกายอุดตัน

การบำบัดด้วยออกซิเจน

การตอบสนองของร่างกายต่อภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ เป็นผลให้เกิดอาการและความผิดปกติต่างๆเกิดขึ้นในสภาวะเฉียบพลัน เราจะรู้สึกขาดอากาศ หายใจเร็ว หอบ ดิ้นรน ทุรนทุรายเพื่อหายใจให้ได้อากาศที่เพียงพอ หัวใจเต้นเร็ว ความดันสูงขึ้น กระวนกระวาย มีอาการทางจิตประสาท คลุ้มคลั่ง จนในที่สุดความรู้ตัวจะลดลง หัวใจเต้นช้าลงๆ ความดันตก และเสียชีวิตในที่สุด

หากการขาดออกซิเจนเป็นไปในลักษณะที่เรื้อรัง แบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต เช่น จากโรคปอดเรื้อรัง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดบางประการ ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากที่เกิดในภาวะเฉียบพลัน ได้แก่ โรคแรงดันเลือดปอดสูง หัวใจซีกขวาล้มเหลว ภาวะเลือดข้นผิดปกติ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ การทำงานของสมองผิดปกติและความยืนยาวของชีวิตสั้นลง

วิธีการให้ออกซิเจน มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน  เช่นการให้โดยใช้เครื่องผลิตออกซิเจน หรือจากการใช้ถังออกซิเจน จะให้ด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับปริมาณความตัองการออกซิเจนของผู้ป่วย รวมถึงระยะเวลาที่ใช้

ข้อบ่งชี้ในการให้ออกซิเจนบำบัดที่บ้าน

ผู้ป่วยที่อยู่บ้าน เป็นกลุ่มที่พ้นระยะเจ็บป่วยเฉียบพลันแล้วในการพิจารณาให้ออกซิเจนที่บ้านจะใช้เกณฑ์ที่แตกต่างจาก กรณีที่อยู่ในโรงพยาบาล คือเป็นการให้ออกซิเจนในภาวะปกติของผู้ป่วยรายนั้นนั่นเอง ข้อบ่งชี้ในการให้ออกซิเจนที่บ้านมีดังนี้

1.กรณีที่ต้องการให้ต่อเนื่อง

  • วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนจากปลายนิ้ว (SpO2) ได้น้อยกว่า 88 %
  • วัด  SpO2 ได้ 88-90% แต่มีภาวะหรือโรคที่บ่งบอกถึงภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรังขึ้นแล้ว จากการประเมินของแพทย์ ได้แก่ มีความดันเลือดปอดสูง หัวใจห้องขวาโต หัวใจห้องขวาล้มเหลว หรือเลือดแดงข้นกว่าปกติ

2.กรณีที่ต้องให้เฉพาะบางโอกาส

  • ให้ออกซิเจนขณะออกกำลังกาย ถ้าขณะออกกำลังกาย SpO2 น้อยกว่า 88%
  • ให้เฉพาะในขณะนอนหลับ ถ้าขณะหลับ SpO2 ต่ำกว่า 88 %

ทั้งสองภาวะเบื้องต้นนี้สามารถประเมินโดยการตรวจจับความอิ่มตัวของออกซิเจนในขณะนั้นๆ เช่น ขณะออกกำลังกายหรือขณะหลับ ซึ่งทางที่ดีก็ควรจะได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ผู้ดูแลก่อนเสมอ

อุปกรณ์สำหรับให้ออกซิเจน

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ต้องได้ออกซิเจนที่บ้าน มักใช้เพียงอุปกรณ์ชนิด nasal cannula หรือสายออกซิเจนแบบผ่านจมูก เพราะภาวะพร่องออกซิเจนมักจะต่ำและไม่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตามก็มีผู้ป่วยโรคปอด หรือโรคหัวใจบางรายที่มีภาวะขาดออกซิเจนที่รุนแรงแต่เรื้อรังมากๆ จำเป็นต้องรักษาตัวที่บ้าน จึงต้องมีการใช้อุปกรณ์สำหรับให้ออกซิเจนในรูปแบบอื่นๆ ด้วยดังนี้

1.nasal cannula หรือสายออกซิเจนแบบผ่านจมูก

คุณลักษณะ 

ใช้สำหรับอัตราการไหลของออกซิเจน 1-6 ลิตร/นาที สายเล็กๆ ที่นำออกซิเจนควรอยู่ลึกในจมูกประมาณ 1 ซม. ข้อดีคือผู้ป่วยจะรู้สึกสบายกว่าอุปกรณ์แบบอื่นและมีราคาถูก

ความเข้มข้นของออกซิเจนที่ผู้ป่วยได้รับ

1 L/min = 24 %

2 L/min = 28 %

3 L/min = 32 %

4 L/min = 36 %

5 L/min = 40 %

6 L/min = 44 %

ข้อจำกัดและอาการแทรกซ้อน

ความเข้มข้นของออกซิเจนที่ผู้ป่วยได้รับแปรผันตามการหายใจ ถ้าหายใจเร็ว หอบอยู่ สัดส่วนของอากาศปกติก็จะมาก ทำให้ความเข้มข้นลดลง และถ้าเปิดออกซิเจนแรง จะทำให้ระคายเคืองเยื่อบุจมูก

2. Simple Oxygen Mask หรือหน้ากากออกซิเจน

คุณลักษณะ

ใช้สำหรับอัตราการไหลของออกซิเจน 5-8 ลิตร/นาที การใช้ต้องครอบให้แนบสนิทกับหน้า

ความเข้มข้นของออกซิเจนที่ผู้ป่วยได้รับ

5-8 L/min = 50-60%

ข้อจำกัดและอาการแทรกซ้อน

ห้ามเปิดออกซิเจน น้อยกว่า 5 L/min เพราะจะทำให้ลมหายใจเดิมค้างในหน้ากาก ผู้ป่วยจะหายใจเอาอากาศเดิมเข้าไปใหม่ได้ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบาย

3.High Concentration Oxygen Re breathing Mask with Bag หรือหน้ากากออกซิเจนมีถุง

คุณลักษณะ

ใช้สำหรับอัตราการไหลของออกซิเจน 6-10 ลิตร/นาที การใช้ต้องครอบให้แนบสนิทกับหน้า สังเกตว่าถุงมีการยุบพอง ตามจังหวะการหายใจของคนไข้

ความเข้มข้นของออกซิเจนที่ผู้ป่วยได้รับ

6-10 L/min = 55-70 %

ข้อจำกัดและอาการแทรกซ้อน

ห้ามเปิดออกซิเจน น้อยกว่า 6 L/min อื่นๆ เช่นเดียวกับ simple mask

ออกซิเจนเหมาะสำหรับ

  1. ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย ที่ต้องใช้ Oxygen เพื่อการบำบัดอาการป่วย ที่บ้าน หรือ ระหว่างเดินทางไป รพ.
  2. ผู้ที่มีภาวะ การหายใจบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หอบหืด อื่นๆ
  3. ผู้ที่เหน็ดเหนื่อยจากการเล่นกีฬา ออกกำลัง ทุกประเภท
  4. ผู้ที่อดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่านหนังสือดึก หรือเกิดความเครียด
  5. ผู้ที่อยู่ในแหล่งที่มีมลภาวะในอากาศสูง เช่น สถานที่จราจรหนาแน่น
  6. ผู้ที่อาศัย -เดินทางขึ้นสู่ที่สูง ภูเขาสูง อาคารสูงมากๆ ซึ่งมีอากาศ-ออกซิเจนเบาบาง
  7. ผู้ที่ทำงานหนัก ทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย พื้นที่มีสารเคมีเป็นพิษ ที่อากาศไม่ถ่ายเท
  8. บุคคลทั่วไปที่ต้องการรับออกซิเจนบริสุทธิ์ เพื่อความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
  9. ใช้เป็นอุปกรณ์กู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับหน่วยกู้ภัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *